โพสต์แนะนำ

การประมวลความรู้ เรื่อง ASEAN ประเทศเวียดนาม จัดทำโดย นางสาวศุภนิดา รัตนศิลป์ เลขที่ 14 ม. 6/6 เสนอ อาจารย์ เอื้อมพร แวว...

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

ข้อมูลผู้จัดทำ

การประมวลความรู้ เรื่อง ASEAN
ประเทศเวียดนาม

จัดทำโดย
นางสาวศุภนิดา รัตนศิลป์
เลขที่ 14 ม. 6/6
เสนอ
อาจารย์ เอื้อมพร แววสง่า



การนับเลขภาษาเวียดนาม

การนับเลขภาษาเวียดนาม

คำทักทายภาษาเวียดนาม และ คำบอกรักภาษาเวียดนาม

คำทักทาย
ประเทศเวียดนามและประเทศอาเซียนอื่นๆ



คำบอกรัก
ของประเทศเวียดนาม
และ
ประเทศอาเซียนอื่นๆ



เทศกาลและประเพณีประเทศเวียดนาม
ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของประเทศเวียดนาม
เนื่องจากคนเวียดนามส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากจีน ทั้งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนนับพันปี จึงได้รับอิทธิพลทั้งด้านความเชื่อและการดำรงชีวิตมาจากจีนไม่น้อย แม้ปัจจุบันชาวเวียดนามส่วนใหญ่จะไม่นับถือศาสนาใดอย่างเคร่งครัด แต่ประเพณีและวันหยุดสำคัญต่างๆ ก็ยังสะท้อนความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องการกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษเช่นเดียวกับคนจีน
เทศกาลต่างๆของประเทศเวียดนาม

เทศกาลสักการะกษัตริย์หุ่ง (Le Hoi Den Hong)



      จัดในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งของเวียดนาม เพื่อระลึกถึงและแสดงความเคารพต่อกษัตริย์พระองค์แรกตามตำนานของเวียดนาม ที่เชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำให้ชาวเวียดนามรู้จักการปลูกข้าว ซึ่งเป็นเทศกาลที่จัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในช่วงเทศกาล ถนนที่มุ่งสู่ภูเขาเหงียหลิงจะถุกประดับด้วยธงมากมาย วันพิธีหลักจะตรงกับวันที่ 10 ซึ่งจะมีขบวนพาเหรดจากหลายท้องถิ่นการเชิดมังกรและการจัดพิธีบูชากษัตริย์หุ่ง ในคืนวันก่อนที่จะถึงวันพิธีหลัก จะมีการปล่อยโคมลอยขึ้นฟ้า ซึ่งเป็นภาพที่งดงามอย่างมาก

เทศกาลเต็ดเหวียนดาน (Ted Nguyen Dan)


     
เป็นงานฉลองก่อนเริ่มศักราชใหม่ ถือเอาตามปฏิทินจันทรคติ โดยจะเริ่มจัดจากวันแรกของสัปดาห์สุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่เป็นระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน มักตรงกับช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ คำว่าเต็ดเหวียนดาน มีความหมายว่า ก่อนรุ่งอรุณชาวเวียดนามแต่ละบ้านจะมีการเลี้ยงสังสรรค์ ไปมาหาสู่ญาติมิตร ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ และบวงสรวงเทพเจ้า

เทศกาลจั่วเฮือง


        จัดในช่วงฤดูใบไม้ผลิตลอดฤดู (เป็นเวลาสามเดือน) เพื่อสักการะเจดีย์จั่วเฮือง (เจดีย์น้ำหอม) ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาเฮืองติ้จ ในช่วงเทศกาลจะมีการละเล่นพื้นเมืองและการร่ายรำพื้นเมือง ชาวเวียดนามถือเป็นเทศกาลแสวงบุญเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เพื่อความเป็นศิริมงคล หลังจากเข้าสู่ศักราชใหม่ ตลอดทางที่ขึ้นสู่ยอดเข้าจะเต็มไปด้วยเจดีย์น้อยใหญ่กว่า 100 องค์ รวมถึงที่ทัศนียภาพอันงดงาม ที่สำคัญได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก


เทศกาลเต็ดดวานเหงาะ (Tet Doan Ngo)


        จัดในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อขับไล่ภูตผีที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ช่วงเวลาที่เปลี่ยนถ่ายจากฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ฤดูร้อนเป็นช่วงที่เจ็บป่วยกันมาก ชาวเวียดนามจึงได้จัดให้มีพิธีบวงสรวง เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลที่ทำให้เกิดโรคภัย รวมถึงเป็นพิธีบรวงสรวงให้ฤดูกาลเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ได้ผลดี ในวันพิธีชาวเวียดนามจะกินแต่ผลไม้กับข้าวเหนียวหมักในช่วงเช้า และมีการทำพิธีบวงสรวงในตอนบ่ายถึงเย็น

เทศกาลเต็ดตรุงตู (Tet Trung Thu)



     หรือที่เรียกว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์ จัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญรองจากเต็ดเหวียนดาน รูปแบบและพิธีการจะมีลักษณะคล้ายกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีน เมื่อถึงวันพิธี ชาวเวียดนามจะประดับโคมเอาไว้ที่หน้าบ้าน มีการแห่มังกรไปตามท้องถนน มีการประกวด บันตรังทูขนมรูปร่างกลม ใส้เป็นถั่วและผลไม้ หรือที่เรียกว่าขนมเปี๊ยะโก๋ญวน

10 สถานที่ท่องเที่ยวในเวียดนาม

10 สถานที่ท่องเที่ยวในเวียดนาม

1. อ่าวฮาลอง (Ha Long Bay)


         อ่าวฮาลอง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์ เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพ จนยูเนสโกต้องยกย่องให้เป็นมรดกโลก อ่าวนี้ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม และอยู่ไม่ห่างจากเขตแดนของประเทศจีนมากนัก จุดเด่นของอ่าวนี้ คือ มีเกาะหินปูนโผล่ขึ้นกระจาย ๆ ทั่วอ่าว ครอบคลุมพื้นที่ถึง 1,500 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ ยังได้รับคำชื่นชมจากนักท่องเที่ยวว่ามีบรรยากาศที่สวยงามเกินจริง เสมือนฉากในตอนจบของภาพยนตร์ซึ่งมีแสง สี ที่ลงตัวสุด ๆ เลยทีเดียว 
          ข้อมูลเพิ่มเติม : อ่าวฮาลองอยู่ห่างจากกรุงฮานอย 170 กิโลเมตร ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเริ่มต้นการเดินทางจากกรุงฮานอย โดยใช้บริการรถยนต์ รถมินิบัส รถประจำทาง หรือเฮลิคอปเตอร์ 


2. พระราชวังทังลอง (Imperial Citadel of Thang Long)


          สถานที่แห่งนี้เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นด้วยหินทั้งหมด ซึ่งเป็นสมบัติของราชวงศ์ Ho และถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1379 แต่ยังคงหลงเหลือโครงสร้างให้เห็นในปัจจุบัน อีกทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม เพราะเป็นราชวังหินแห่งเดียวหลงเหลืออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ยาวนาน จึงถูกยกย่องให้เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมในสมัยนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโดยใช้เทคโนโลยีในแบบสมัยก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่าคนสมัยนั้นสามารถสร้างพระราชวังที่งดงามอย่างนี้ได้อย่างไร
          ข้อมูลเพิ่มเติม : ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ราคา 16 บาท (10,000 ดงเวียดนาม) ค่าเข้าชมสำหรับเด็ก (อายุ 10-15 ปี) ราคา 8 บาท (5,000 ดงเวียดนาม) สำหรับเวลาทำการนั้น เปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ในช่วงฤดูร้อนเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. ในฤดูหนาวเปิดตั้งแต่เวลา 07.30-17.30 น.

3. เมืองเก่าฮอยอัน (Hoi An Old Town)


           เมืองเก่าฮอยอันเป็นเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลจีนใต้ ชาวบ้านยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อีกทั้งภายในเมืองยังมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า มีอาคารต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมทั้งตะวันตกและตะวันออก เช่น บ้าน โคมไฟโบราณแบบจีน สะพานข้ามคลองที่มีการดีไซน์แบบประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เมืองฮอยเก่าอันจะได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก นอกจากนี้ ยังสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ส่วนการสัญจรไปมาในเมืองนั้นก็สะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเดิน ปั่นจักรยาน หรือขับรถจักรยานยนต์ก็ได้ เพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ในยามค่ำคืนหลังสี่ทุ่มไปแล้วจะค่อนข้างเงียบ แต่ยังพอมีผับบาร์ ร้านขายเครื่องดื่มเปิดให้บริการอยู่บ้าง ที่สำคัญผู้คนในเมืองเป็นมิตร อัธยาศัยดี มีน้ำใจกับนักท่องเที่ยว
          ข้อมูลเพิ่มเติม : ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในเมืองเก่าฮอยอันคนละ 181 บาท (120,000 ดงเวียดนาม) นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์เมืองเก่าต้องแต่งกายสุภาพ เช่น ผู้ชายสวมเสื้อเชิ้ต ผู้หญิงห้ามสวมเสื้อไม่มีแขนและกระโปรงสั้นเหนือเข่า

4. สุสานโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh's Mausoleum)



          สุสานบรรจุศพแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองฮานอย ภายในอนุสาวรีย์มีโลงแก้วบรรจุร่างของ โฮจิมินห์ หรืออดีตนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม แต่คนเวียดนามมักเรียกกันว่า "ลุงโฮ" ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นยึดโมเดลมาจากอนุสาวรีย์บรรจุศพของ วลาดีมีร์ เลนิน ในประเทศรัสเซีย เปิดให้สาธารณชนเข้าชมครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1975 และในทุก ๆ ปีร่างของลุงโฮจะถูกส่งไปตรวจสอบความสมบูรณ์ที่รัสเซีย

          ข้อมูลเพิ่มเติม : ตั้งอยู่ที่จตุรัสบาดิงห์ (Ba Dinh Square) เปิดทำการวันอังคาร-พฤหัสบดี และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-11.00 น. สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาเยี่ยมชมต้องสวมเครื่องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย (ห้ามสวมเสื้อแขนกุด กระโปรงสั้นเหนือเข่า กางเกงขาสั้น)

5. อุโมงค์กู๋จี (Cu Chi Tunnels)


          อุโมงค์แห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ใช้เป็นที่หลบภัยจากระเบิด ที่สำหรับประชุมของกองกำลังเวียดกงในสมัยที่รบกับสหรัฐอเมริกา อุโมงค์ถูกสร้างขึ้นให้มีหลายชั้นและแต่ละชั้นจะมีระบบกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความอยู่รอดของทหาร ภายในอุโมงค์ประกอบไปด้วยโรงพยาบาล ห้องประชุม และห้องพัก สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจะได้รับชมหนังสั้นที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเวียดนามก่อน เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้น นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างล้นหลาม
         ข้อมูลเพิ่มเติม : ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโฮจิมินห์ 70 กิโลเมตร และเปิดให้บริการตลอดทั้งปี

6. ปราสาทหมีเซิน (My Son Sanctuary)


         ปราสาทหมีเซินเป็นสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลือมาจากอาณาจักรจามปาหรือช่วงศตวรรษที่ 4-15 สะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมของฮินดูที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดในอินโดจีน ในอดีตปราสาทแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับบูชาพระศิวะ นอกจากตัวปราสาทแล้วยังมีรูปปั้น วัด และถูกห้อมล้อมไปด้วยป่าดงดิบ ในสมัยก่อนมีสิ่งก่อสร้างโบราณกว่า 70 หลัง แต่ในช่วงสงครามเวียดนามโบราณสถานฮินดูนี้ถูกระเบิดตกใส่ไปหลายแห่ง จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 22 หลังเท่านั้น และที่สำคัญได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกด้วย
         ข้อมูลเพิ่มเติม : ตั้งอยู่ในชุมชน  Duy Tan จังหวัดกว๋างนาม (Quang Nam) หรืออยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองดานัง 70 กิโลเมตร และห่างจากเมืองฮานอย 40 กิโลเมตร และเปิดทำการตลอดทั้งปี สำหรับเวลาที่เหมาะสมในการมาเยี่ยมชม คือ ช่วงเช้า เพราะอากาศกำลังดี ไม่ร้อนจนเกินไป

7. พระราชวังเว้ (Complex of Hue Monuments)


          เป็นพระราชวังของราชวงศ์เหงียน (Nguyen Dynasty) ซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ภายในประกอบด้วย พระราชวัง สุสานของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ เจดีย์ วัดวาอาราม ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สร้างขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 19 แต่สำหรับสิ่งก่อสร้างที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก คือ ประตูทางเข้าพระราชวัง (Ngo Mon Gate) ซึ่งเป็นทางเดินเข้าสำหรับกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และสุสานพระเจ้ามิงห์หมาง (The Tomb of Emperor Minh Mang) ซึ่งนอกจากจะเป็นพระราชวังที่ก่อสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามแล้ว ยังมีทิวทัศน์ที่งดงามไม่แพ้กัน จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
          ข้อมูลเพิ่มเติม : ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเวียดนาม เปิดให้บริการตลอดทั้งปี แต่นักท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการมาในช่วงฤดูฝนหรือช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

8. พิพิธภัณฑ์สงคราม (War Remnants Museum)



          เปิดให้บริการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1975 โดยใช้ชื่อว่า Museum of American War Crimes เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเพื่อรำลึกถึงความเจ็บปวด ความเศร้าโศก เมื่อครั้งสงครามเวียดนาม ภายในมีการจัดแสดงเฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธ รถถัง เครื่องบินจู่โจม ฯลฯ ซึ่งอาวุธเหล่านั้นเป็นอาวุธที่ทหารอเมริกันใช้โจมตีเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดในพิพิธภัณฑ์ คือ กรงเสือ ที่นำมาใช้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองถึง 14 คน รวมถึงเครื่องประหารชีวิตนักโทษการเมืองก็เป็นที่พูดถึงไม่แพ้กัน นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดลึก ๆ ในหัวใจของชาวเวียดนามได้เป็นอย่างดี
          ข้อมูลเพิ่มเติม : ตั้งอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 07.30-12.00 น. และ 13.00-17.00 น.  

9. อุทยานแห่งชาติ Phong Nha-Ke Bang


          อุทยานแห่งชาติ Phong Nha-Ke Bang นั้นมีความโดดเด่นทางธรรมชาติและธรณีวิทยา เพราะมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยยุคน้ำแข็ง หรือประมาณ 464 ล้านปีที่แล้ว และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกด้วย ปัจจุบันมีภูมิประเทศเป็นแบบหินปูนที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย ในอุทยานฯ ยังเป็นที่ตั้งของถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีถ้ำมากกว่า 300 ถ้ำ และปกคลุมไปด้วยป่าไม้เขตร้อน ที่เรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศมากที่สุดในแถบอินโด-แปซิฟิกด้วย นอกจากนี้ ยังปรากฏลักษณะทางภูมิประเทศที่สำคัญซึ่งไม่ค่อยพบเห็นได้ที่อื่น เช่น ลำธารใต้ดิน ถ้ำที่มีหินย้อยลงมาจากเพดาน ฯลฯ อีกทั้งยังมีพันธุ์สัตว์ที่กำลังจะสาบสูญไปจากโลกนี้ เช่น หมีดำ เสือ และช้าง ส่วนกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวประกอบด้วย เดินชมความงามภายในถ้ำ ปืนเขา เดินป่า เป็นต้น
          ข้อมูลเพิ่มเติม : ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงฮานอยลงไป 500 เมตร และเปิดให้บริการตลอดทั้งปี


10. ภูเขาทรายสองสีที่หมุยแหน (The Sand Dunes of Mui Ne)


          นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังที่แห่งนี้รับรองได้เลยว่าจะได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับทะเลทราย เพราะภูเขาทรายที่หมุยแหนหรือที่หลายคนคุ้นเคยกับสำเนียง "มุยเน่" นั้น มีขนาดใหญ่และอยู่ติดกับชายทะเล จึงมีแดดและลมที่แรงมากทีเดียว ที่นี่มีเนินทรายอยู่ 2 แห่ง คือ ภูเขาทรายขาวและภูเขาทรายแดง ซึ่งภูเขาทรายขาวนั้นมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Bau Trang และมีร้านอาหารขนาดเล็กเปิดบริการสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย สำหรับภูเขาทรายแดงแม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่า แต่เป็นที่นิยมมากกว่าในสายตาของช่างภาพ เนื่องจากสีทรายมีสีแดงเข้ม ถ่ายรูปออกมาแล้วสีสวยกว่าที่ภูเขาทรายขาว ส่วนกิจกรรมยอดฮิต คือ การเล่นกระดานเลื่อนบนเนินทรายสูงลงมาด้านล่าง ซึ่งอุปกรณ์สำหรับเล่นนั้นสามารถหาเช่าได้จากร้านที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ภูเขาทราย
           ข้อมูลเพิ่มเติม : เปิดให้บริการตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการมาเที่ยว คือ ช่วงเช้าหรือไม่ก็ช่วงเย็น เพราะตอนกลางวันถึงช่วงบ่ายนั้นอากาศและแดดแรงมาก

การแต่งกายประเทศเวียดนาม และชุดประจำชาติ

การแต่งกาย และชุดประจำชาติของประเทศเวียดนาม



การแต่งกาย 
ผู้หญิง นุ่งกางเกงแพรยาว สวมเสื้อแขนยาว คอตั้งสูง ตัวเสื้อยาวลงมาจรดข้อเท้า ผ่า 2 ข้าง สูงแค่เอว พวกทำงานหนักจะสวมเสื้อสั้น มีกระเป๋า 2 ใบ แขนจีบยาว บางแห่งทางเหนือสวมกระโปรงยาวถึงข้อเท้า 

ผม ยาวเกล้ามวย สวมงอบสานด้วยใบลานทรงรูปฝาชี หรือใช้ผ้าสามเหลี่ยมคลุมศีรษะ ดึงชาย 2 ข้างมาผูกใต้คาง ถ้าเป็นทางเหนือแถวฮานอย ใช้ผ้าดำแถบยาวหุ้มผมซึ่งถักเปียไว้ให้มิด แล้วโอบพันศีรษะ ปัจจุบันนิยมตัดผมสั้น และดัดผมมากขึ้น สวมรองเท้าเกียะส้นสูง พ่นสีต่าง ๆ รองเท้าสตรีส้นรองด้วยพื้น ยาง คาดหลังด้วยหนังหรือพลาสติกสีต่าง ๆ 

ชาย แต่งกายคล้ายหญิง บางครั้งสวมเสื้อกุยเฮง สวมหมวกสีดำเย็บด้วยผ้า ไม่มีปีก ปัจจุบันแต่งสากลกันมากแล้ว
ในเวียดนามใต้มีชาวเขาเผ่าหนึ่งเรียกว่า พวกม้อย จะนุ่งผ้าสั้น ๆ ปกปิดร่างกายแต่เฉพาะ ท่อนล่างคล้ายนุ่งใบไม้ ปัจจุบันหญิงสวมเสื้อ นิยมเจาะหูสอดไม้ซึ่งเหลาแหลม ๆ สวมกำไลคอ 

จากประวัติความเป็นมาจะเห็นว่าชาวเวียดนามมีการแต่งกายผสมผสานกันมีทั้งไทยมุง หรือ อ้ายลาวระยะแรก ปนของจีนบ้าง เช่น ลักษณะของเสื้อที่ป้ายซ้อนกันบริเวณอก คอปิด แขน ยาว แต่แตกต่างจากไทยและจีนตรงที่การใช้ผ้า ถึงแม้ว่าจะใส่กางเกงแล้ว ยังนิยมสวมเสื้อผ้าบาง ที่เปิดจนถึงเอวทั้ง 2 ข้าง ให้เห็นรูปทรงและสัดส่วนที่งดงาม ชาวเวียดนาม ได้ชื่อว่า เป็นชาติมี ผิวพรรณงามที่สุดในโลกอีกด้วย
 

ชนเผ่าไทในเวียดนามจะมีการทอผ้าออกมางดงามมาก ซึ่งจะมีลวดลายบนผืนผ้าทอที่ แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละลายนั้น มีความหมายและมีเทคนิคการทอที่แตกต่างกันอย่าง เช่น ลาย ดาวแปดแฉก จะเป็นลายดาวแปดแฉกตรงกลางของผ้า หรือในผ้าเปียว (ผ้าโพกศีรษะ) และยังมี ลายเส้นจุด (ลายคลื่น) ลายฟันเลื่อย (ลายหยักหงอนไก่) ลายขอ (ลายกูด) ลายเหรียญ (ลายจำ หลอด) ลายรูปหัวใจ (ลายหมากจุ้ม) เป็นต้น ลวดลายต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะปรากฏอยู่บนผืน ผ้าแล้วยังปรากฏในเครื่องปั้นดินเผา และกลองสำริดด้วย

2. ชุดประจำชาติของประเทศเวียดนาม

          อ่าวหญ่าย (Ao dai) เป็นชุดประจำชาติของประเทศเวียดนามที่ประกอบไปด้วยชุดผ้าไหมที่พอดีตัวสวมทับกางเกงขายาวซึ่งเป็นชุดที่มักสวมใส่ในงานแต่งงานและพิธีการสำคัญของประเทศ มีลักษณะคล้ายชุดกี่เพ้าของจีน ในปัจจุบันเป็นชุดที่ได้รับความนิยมจากผู้หญิงเวียดนาม ส่วนผู้ชายเวียดนามจะสวมใส่ชุดอ่าวหญ่ายในพิธีแต่งงาน หรือพิธีศพ


เงินเดือน รายได้ขั้นต่ำของประเทศเวียดนาม


เงินเดือน รายได้ขั้นต่ำของประเทศเวียดนาม


         เงินเดือน รายได้ขั้นต่ำของประเทศเวียดนาม
ของประเทศเวียดนามได้เงินประมาน 95 บาทต่อวัน เท่ากับได้ 2850 ต่อเดือน
             เวียดนามเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2558
    นายเหงวียน เติ๋น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามเห็นชอบตามคำแนะนำของสภาค่าจ้างแรงงานแห่งชาติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 250,000-400,000 เวียดนามด่อง (ประมาณ 12 – 19 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน โดยอัตราดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ส่งผลให้เวียดนามจะมีค่าแรงขั้นต่ำที่ 2.42-3.1 ล้านเวียดนามด่อง (ประมาณ 101.4 – 146.2 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่การจ้างงาน
ในเขตพื้นที่ที่ 1 ได้แก่ กรุงฮานอย นครไฮฟอง และนครโฮจิมินห์ ค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่ 3.1 ล้านเวียดนามด่อง (ประมาณ 146.2 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ซึ่งมีการปรับขึ้น 400,000 เวียดนามด่องจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน
ในเขตพื้นที่ที่ 2 ได้แก่ ปริมณฑลของเขตพื้นที่ที่ 1 พร้อมทั้งจังหวัดฮายเซือง หุ่งเอียน บั๊กนิง ถายเหวียน ญาจาง เกิ่นเทอ และแร๊กย้า ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.75 ล้านเวียดนามด่อง (ประมาณ 129 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน
ในเขตพื้นที่ที่ 3 ได้แก่ เขตสำคัญต่างๆ ของจังหวัดฮายเซือง วิงฟุ๊ก ฝูเถาะ บั๊กนิง นามดิ่ง ฝูเอียน ด่งนาย เตียนซาง และเบ๋นแจ ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านเวียดนามด่อง (ประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน
และในเขตพื้นที่ที่ 4 ครอบคลุมรวมทุกพื้นที่ที่ยังมีการพัฒนาไม่มากนัก ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.15 ล้านเวียดนามด่อง (ประมาณ 101.4 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน
สหภาพแรงงานและการค้าเวียดนาม ได้สำรวจแรงงาน 1,500 คน ใน 12 จังหวัด พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนของเวียดนามตามจริง ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.5-4 ล้านเวียดนามด่อง ขึ้นกับเขตพื้นที่ ซึ่งอัตราค่าจ้างดังกล่าว สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตได้เพียงร้อยละ 69-77 โดยแรงงานร้อยละ 13 มีความเห็นว่าอัตราค่าจ้างดังกล่าวไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 25 เห็นว่า ด้วยค่าจ้างจำนวนดังกล่าว จำเป็นต้องใช้เงินอย่างรอบคอบเพื่อให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และร้อยละ 50 เห็นว่า ค่าจ้างดังกล่าวสามารถใช้สำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลต่อธุรกิจของตนเองอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจของเวียดนามในภาพรวม เนื่องจากเวียดนามมีจุดเด่นเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น การพิจารณาขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงาน รัฐบาลควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า จุดแข็งของเวียดนามที่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้มาสร้างฐานการผลิตในประเทศ ได้แก่ การมีแรงงานราคาถูก การปรับค่าแรงขั้นต่ำอาจส่งผลให้ภาคการผลิตมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อภาพรวมทางการลงทุนของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงควบคู่กับการดึงดูดการลงทุน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิเอโตร มาซินา ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนเปิล กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาระยะสั้น คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อก่อให้เกิดอัตราการจ้างแรงงานท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การจ้างแรงงานด้วยค่าแรงราคาถูก อาจก่อปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวที่ยากจะแก้ไข
    มาดูรายได้และค่าแรงขั้นค่ำ                      ของอาเซียน






ประวัติศาสตร์เวียดนาม

ประวัติศาสตร์เวียดนาม 


          เวียดนามเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้อันยาวนาน เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศในนามของอาณาจักรวัน ลาง เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ในบางครั้งมีการแบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรเล็กๆ และในบางครั้งกลับมารวมกันได้อีก จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน ตั้งแต่ 111 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงปี ค.ศ.938 จึงได้รับอิสรภาพจากจีน และมีการตั้งราชวงศ์ต่างๆ ขึ้นมาปกครองประเทศ แต่ก็ยังมีการรบพุ่งกันเองระหว่างตระกูลใหญ่ รบกับจีนเป็นครั้งคราว รวมทั้งพวกจามปาและเขมรด้วยพร้อมกันไป จนกระทั่งเหงียนอั๋นห์สามารถรวบรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวกันได้ และตั้งราชวงศ์เหงียนขึ้นปกครองเวียดนาม ใน ปี ค.ศ.1802 
            ปี ค.ศ.1862 ฝรั่งเศสบุกโจมตีไซ่ง่อน จักรพรรดิตือดึ๊ก เซ็นสัญญายอมแพ้และตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ช่วงปี ค.ศ.1940 – 1954 โฮจิมินห์นำประชาชนต่อสู้กับพวกฝรั่งเศส และพยายามกลับมามีอิทธิพลทำให้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์  ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กองกำลังเวียดมินห์ได้พามวลชนลุกขึ้นสู้ในทุกหัวเมืองของเวียดนามในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 เรียกกันว่า การปฏิวัติเดือนสิงหาคมและได้รับชัยชนะและ โฮจิมินห์ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก ได้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญในปีถัดมา
            จนถึงปี ค.ศ. 1954 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่กองกำลังเวียดมินห์ที่ค่ายเดียนเบียนฟู และมีการทำสนธิสัญญาเจนีวา สงบศึกที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผลการเจรจาสงบศึกตกลงว่าฝรั่งเศสต้องให้เอกราชแก่เวียดนาม และประเทศเวียดนามจะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยเส้นขนานที่ 17 องศาเหนือ  โดยเวียดนามเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของโฮจิมินห์ และเวียดนามใต้อยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเบาได๋ 

            ความเป็นอิสระของเวียดนามดำเนินอยู่ได้ไม่นานนัก เมื่อในปี ค.ศ.1955 สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาช่วยเหลือในการสร้างรัฐให้แก่เวียดนามใต้ และเพิ่มการช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเหนือ โฮจิมินห์พยายามจะล้มล้างรัฐบาลเวียดนามใต้ โดยส่งขบวนการเวียดกงเข้าไปแทรกแซง ชักชวนให้ประชาชนเวียดนามใต้ต่อต้านรัฐบาลตนเอง ประชาชนเวียดนามใต้ได้มีประชามติปลดจักรพรรดิเบาได๋ออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ.1955 และ
โงดินห์เดียมได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี นับตั้งแต่นั้นมาประเทศเวียดนามใต้ได้เกิดสงครามภายในตลอดมา โดยโงดินห์เดียมได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เวียดกงได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือและโซเวียต
 
            ปี ค.ศ.1963 โงดินห์เดียมถูกโค่นอำนาจและเสียชีวิต สหรัฐจึงได้ส่งทหารเข้ามาต่อสู้กับเวียดกง อีก 2 ปีต่อมา สหรัฐส่งกำลังทหารเข้ามาปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรอีก 7 ประเทศ
สงครามเวียดนามจึงได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
            ปี ค.ศ.1973 แม้ว่าทหารสหรัฐจะเข็งแกร่งเพียงใด แต่ก็ไม่อาจจะสู้รบกับสงครามกองโจร หรือสงครามจรยุทธของเวียดกง ในสมรภูมิที่ไม่คุ้นเคยได้ ทหารอเมริกันที่ถูกส่งเข้าไปในเวียดนามถึง 2,500,000 นาย เสียชีวิตไปกว่า 58,000 นาย บาดเจ็บนับ 200,000 นาย และเชื่อว่าอีกแสนนายฆ่าตัวตาย เพราะทนสภาพโหดร้ายไม่ไหว ส่งผลให้เกิดการเดินขบวนต่อต้านสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามไปมากกว่านี้ จึงได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพ (Paris Peace Accords) ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1973 ณ กรุงปารีส แต่ก็ไม่ได้ทำให้สงครามเวียดนามยุติลง
            จนกระทั่งในปี ค.ศ.1975 เมื่อกองทัพเวียดกงบุกเข้าถึงกรุงไซ่ง่อน (เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในขณะนั้น) ไซ่ง่อนแตก การสู้รบสิ้นสุดลง เดืองวันมินห์ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ประกาศยอมแพ้ จึงเป็นการสิ้นสุดอำนาจของสหรัฐอเมริกาในเวียดนาม โดยประเทศเวียดนามเรียกสงครามนี้ว่า สงครามปกป้องชาติจากอเมริกัน 
            วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมเป็นประเทศเดียวกัน ในชื่อ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีการปกครองแบบสังคมนิยม โดยมีฮานอยเป็นเมืองหลวงและเปลี่ยนชื่อเมืองไซ่ง่อนเป็น โฮจิมินห์ซิตี้ ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ เวียดนามจึงเป็นอิสระจากการปกครองของต่างชาติอย่างถาวรอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการต่อสู้มาเป็นระยะเวลายาวนาน
            การเมืองการปกครองแบบสังคมนิยมนั้นทำให้ระบบเศรษฐกิจของเวียดนามชะงักงัน ขาดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกันก็ล้วนแต่มีฐานะยากจน อีกทั้งยังไม่มีความร่วมมือใดๆในทางเศรษฐกิจร่วมกัน ทำให้ความเป็นอยู่แร้นแค้น และขาดคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังมีช่องโหว่ให้ผู้มีอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ใช้ช่องทางหาประโยชน์สู่ตนและพวกพ้อง
            ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 เวียดนามจึงต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น จึงมีการปฏิรูปการเมืองการปกครองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา  เริ่มทำให้มีเงินทุนหลังไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น  อุตสาหกรรมต่างๆได้ถูกพัฒนามากขึ้น ทำให้แนวโน้มของคุณภาพชีวิตประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย

            การเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน เป็นอีกก้าวกระโดดหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงประเทศเวียดนาม เข้าสู่ยุคใหม่ มีการลงนามกรอบข้อตกลงทางการค้ากับชาติต่างๆ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิตของประชาชน อันเป็นความปรารถนาสูงสุดของประชาชนในประเทศ